5 เรื่องควรรู้ก่อนสอนลูกเข้าใจเรื่อง "เพศ"


 
 
       คงต้องยอมรับว่า การคุยเรื่องเพศ หรือสอนลูกให้เข้าใจเรื่องเพศนั้น ไม่ใช่หน้าที่ของครู หรือปล่อยให้โรงเรียนเป็นผู้สอนฝ่ายเดียว พ่อแม่คือคนสำคัญที่ต้องคอยสอน และเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูกไปพร้อม ๆ กันด้วย แต่ก่อนจะสอนลูกเข้าใจเรื่องเพศ การเตรียมตัวเองให้พร้อมถือเป็นเรื่องสำคัญ วันนี้เราจึงมีข้อมูลดี ๆ จากองค์การแพธ (PATH) เกี่ยวกับแนวทางการเตรียมความพร้อมเพื่อสื่อสารเรื่องเพศกับลูกอย่างสร้างสรรค์มาฝากกัน ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น ไปติดตามกันได้เลย
       
       รู้ใจตัวเอง
      
       เรื่องเพศเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อและทัศนคติ ถ้าลองถามคนในบ้าน คนข้างบ้าน คนขายข้าวหน้าปากซอย ว่าวัยรุ่นควรมีแฟนเมื่อไร ควรคบกันอย่างไร ก็จะได้คำตอบที่ต่างกัน เพราะแต่ละคนมีความคิดเห็นและความเชื่อที่แตกต่าง เรื่องเพศจึงเป็นเรื่องตัดสินยากว่าสิ่งไหนถูก-ผิด ดี-เลว ดังนั้น ก่อนจะเริ่มต้นพูดคุยเรื่องเพศกับลูกหรือเด็กในบ้าน พ่อแม่ และผู้ใหญ่ควรตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าความเชื่อหรือทัศนคติของเราในเรื่องนี้เป็นอย่างไร ยึดถือความเชื่อตัวเองมากขนาดไหน และความเชื่อความคิดนั้นยังเหมาะจะใช้กับสังคมยุคนี้หรือไม่ อย่างไร
      
       ลองมองเพศในมุมใหม่
      
       เริ่มจากยอมรับว่า เรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมชาติ พ่อแม่หลายคนอาจยังจำความรู้สึกเมื่อสมัยที่เห็นลูกจับอวัยวะเพศเล่นตอนเพิ่งเริ่มหัดพูด หัดเดิน แล้วรู้สึกไม่สบายใจ บางคนแสดงอาการดุว่า ตีมือลูก เพราะเชื่อว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะไม่งาม ไม่สมควรทำ ในขณะที่นักจิตวิทยายืนยันว่า เด็กทุกคนที่ยังไม่รู้ความหรือเพิ่งจะรู้ความล้วนมีความสนใจ อยากรู้อยากเห็นและมีความสุขเมื่อได้จับอวัยวะเพศของตัวเอง การห้ามไม่ให้ลูกจับต้องอวัยวะเพศเท่ากับเป็นการปลูกฝังความเชื่อของผู้ใหญ่ให้เด็กเห็นว่า เรื่องเพศคือเรื่องลามก สกปรก ดังนั้น พ่อแม่ที่อยากคุยเรื่องเพศกับลูกจำเป็นต้องเปลี่ยนความเชื่อตัวเองให้ได้ก่อนว่า เรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมชาติ เพื่อจะได้ถ่ายทอดความเชื่อที่ถูกต้องให้ลูก ถ้าเราอยากให้ลูกปลอดภัย ไม่ท้อง ไม่ทำใครท้องระหว่างที่ยังเรียนหนังสือไม่จบ หรือไม่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เราก็ต้องทำให้ลูกมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการป้องกันตัวอย่างถูกวิธี ซึ่งก็แปลว่า เราต้องให้แนวทางแก่ลูกในการปฏิบัติตัว เพื่อให้ลูกเกิดความไว้วางใจในตัวเรา โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับเพศซึ่งเป็นเรื่องที่คุยยาก และหลายคนอาจไม่คุ้นเคย
       


       กล้าตอบคำถามลูก
      
       คำถามทำนองนี้ คุณในฐานะพ่อแม่จะตอบว่าอย่างไร เช่น "จุดสุดยอดคืออะไร" "ทำไมแม่มีนม แล้วพ่อไม่มีล่ะ" "ผู้หญิงช่วยตัวเองได้ไหม ทำอย่างไร" หรือ "ทำไมขนหนูมันแข็งไม่นุ่ม คนอื่นเป็นเหมือนกันไหม" ซึ่งแน่นอนว่า พ่อแม่หลายคนมักคิดว่า คำถามพวกนี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรตอบ หรือกลัวว่าถ้าตอบไปแล้วทำให้เด็กอยากรู้มากขึ้น พ่อแม่หลายคนจึงใช้วิธีปฏิเสธ บ่ายเบี่ยง เช่น "ถามแบบนี้เพราะอยากลองใช่ไหม" "อย่าถามมากนักได้ไหม รำคาญ" "ไม่ใช่เรื่องของเด็ก" หรือ "โตเมื่อไรก็รู้เองแหละ จะรีบรู้ไปทำไม" คำตอบแบบนี้ ทำให้เด็กเข้าใจว่า เรื่องที่เขาถามเป็นเรื่องไม่ดี แต่ไม่ได้ทำให้ความสงสัยหรืออยากรู้หมดไป และจะทำให้เขาไปหาคำตอบจากแหล่งต่างๆ ที่อาจทำให้ลูกมีความเสี่ยงมากขึ้น
      
       ทางที่ดี พ่อแม่จึงต้องเรียนรู้ ยอมรับ และตอบคำถามลูกอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่แสดงอาการรังเกียจขยะแขยง หรือเห็นเป็นเรื่องตลก ตอบให้ตรงกับวัยของลูก ถ้าลูกยังเล็กก็ตอบตรงๆ สั้นๆ ว่า ใช่ หรือ ไม่ใช่ หรือเปรียบเทียบกับสิ่งของรอบตัวที่เด็กในวัยเล็กรู้จัก ถ้าลูกโตพอสมควรก็อธิบายให้ยาวขึ้นด้วยคำง่ายๆ หรือมองหาสิ่งที่ช่วยให้คุยกับลูกได้ง่ายขึ้น เช่น การใช้ภาพอธิบาย อาทิ ภาพวาดที่มีคำอธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงจากวัยเด็กสู่วัยหนุ่มสาว ซึ่งจะช่วยให้การคุยเรื่องเกี่ยวกับอวัยวะเพศกับลูก เป็นเรื่องที่สื่อสารกันได้ง่ายขึ้น
    

  
       ฉวยโอกาสถามลูกก่อน
      
       พ่อแม่ควรเป็นฝ่ายฉวยโอกาสในการพูดคุยเรื่องเพศกับลูก โดยอาจหยิบเรื่องมาจากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ หนัง โฆษณา ละคร ทีวี รายการสัมภาษณ์ชีวิตคนดัง เพลงที่กำลังเปิดกันทั่วบ้านทั่วเมือง และถามด้วยน้ำเสียงปกติ ท่าทางสบายๆ สำหรับตัวอย่างคำถามเพื่อเริ่มต้นการพูดคุยมีหลายแนวทาง เช่น "หมู่นี้ พ่อเห็นมีข่าวลงหนังสือพิมพ์บ่อยๆ ว่า พวกวัยรุ่นชอบไปมั่วสุมตามห้องน้ำในห้าง จริงหรือเปล่าลูก เพื่อนๆ เขาคุยเรื่องนี้กันว่าอย่างไรบ้าง" "แม่ปวดหลังจัง สงสัยใกล้จะมีเมนส์ ว่าแต่หนูเคยได้ยินไหมว่า เมนส์คืออะไร" "เป็นหนุ่มแล้วนะเราเห็นมีสาวโทรมาบ่อยๆ ไม่อยากเล่าให้ฟังบ้างเหรอ" เป็นต้น
      
       แต่ถ้าลูกไม่ตอบ คุณพ่อคุณแม่อาจพูดสั้นๆ แค่ว่า "ความจริงก็เป็นเรื่องธรรมชาตินะ เวลาคนเรารักกัน ก็อยากแสดงออก คนที่เป็นผู้ใหญ่เขาก็ทำกัน" ถ้าลูกทำท่าสนใจ หรือซักถาม จึงคุยต่อ แต่ถ้าลูกเงียบ ทำท่าไม่สนใจ ก็ไม่จำเป็นต้องคาดคั้นลูก เพียงแค่ทำให้รู้ว่าที่คุณถามเพราะเป็นห่วง และพร้อมเสมอที่จะคุยให้คำปรึกษาในเรื่องนี้ถ้าลูกมีปัญหา ส่วนในกรณีถ้าเจอคำถามที่ทำให้คุณรู้สึกอึดอัด ไม่กล้าตอบ ขอให้บอกลูกไปตรงๆ ว่า "ตอบไม่ได้ แต่จะไปถามคนที่รู้ให้" หรืออาจจะขอร้องญาติพี่น้องที่สนิทกับลูกให้เป็นคนตอบคำถามให้ แต่ถ้าลูกถามในตอนที่คุณกำลังเหนื่อย หงุดหงิด หรืออารมณ์เสียมาจากนอกบ้าน อย่าทำเสียงตะคอก หรือตวาดใส่ลูก แต่ควรบอกกับลูกไปตรงๆ ว่า "แม่เหนื่อย กำลังอารมณ์ไม่ดี ขอนั่งเงียบๆ สักพัก เก็บไว้ตอบพรุ่งนี้แล้วกัน อย่าลืมทวงด้วยล่ะ" เป็นต้น
      
       เป็นแบบอย่างที่ดี
      
       สำหรับข้อนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากพ่อแม่คือคนสำคัญที่สุดสำหรับลูกในตอนที่ลูกยังเล็ก ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการสอนให้เขารู้จักเข้าใจเรื่องเพศ ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น เมื่ออยู่กับลูก ก็แสดงความรักด้วยการกอดลูก เวลาป้อนข้าวป้อนน้ำ ก็ใช้น้ำเสียง สีหน้า เพื่อให้ลูกมั่นใจว่าลูกปลอดภัยเมื่ออยู่กับคุณ เหล่านี้คือตัวอย่างของการแสดงออกเพื่อสร้างความอบอุ่นทางจิตใจให้แก่ลูก การทำเช่นนี้จะส่งผลต่อการเรียนรู้เรื่องเพศเมื่อลูกโตเป็นวัยรุ่น แต่ถ้ากำลังนึกในใจว่า "โอ๊ย ไม่มีเวลามาทำอะไรแบบนี้หรอก แค่หาเงินมาเลี้ยงให้ลูกโตก็แทบแย่แล้ว" ลองถามตัวเองต่อว่า แล้วถ้าปล่อยให้ลูกไปเจอปัญหา ใครคือคนที่ต้องตามไปแก้ปัญหาตอนลูกโตเป็นวัยรุ่น ซึ่งก็คงหนีไม่พ้นพ่อแม่ หรือว่าไม่จริง


 

ขอบคุณ ที่มา : life&family ; manageronline 
 





แสดงความคิดเห็น






Pooyingnaka Wellness


Advertisement